29.5 C
Thailand
วันพฤหัสบดี, เมษายน 18, 2024
- Advertisement -spot_img

ศัพท์ “หุ้น” ที่ควรรู้ไว้ สำหรับมือใหม่

ศัพท์ “หุ้น” ที่ควรรู้ไว้ สำหรับมือใหม่ มีอะไรบ้างมาดูกัน

 ศัพท์ “หุ้น” ที่ควรรู้ไว้ สำหรับมือใหม่ มีอะไรบ้างมาดูกัน ว่า คำว่าช้อน ตกรถ ติดดอย คัท แปลว่าอะไร เห็นคนในกลุ่มพูดกัน

เม่า – คำนี้แต่ก่อนจะใช้เรียกนักลงทุนที่มีพฤติกรรมเหมือน “แมลงเม่า” ที่ขาดทุนจากการเข้าไปซื้อหุ้นที่ราคากำลังปรับขึ้นอย่างแรง โดยเปรียบหุ้นลักษณะนี้เหมือนกองไฟ และนักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นเหมือนแมลงเม่าที่บินเข้าไปเสียชีวิตในกองไฟนั่นเอง

แต่ปัจจุบันนิยมนำมาใช้เรียก “นักลงทุนรายย่อย” อย่างเรากัน แต่ถ้านักลงทุนรายย่อยประสบความสำเร็จก็จะเรียกกันว่า ‘พญาเม่า’ กัน .. ถึงเราจะเป็นเม่า แต่ก็พยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นพญาเม่ากันให้ได้นะ!

 

หรั่ง – มาจากคำว่า “ฝรั่ง” ใช้เรียก “นักลงทุนต่างประเทศ” หรือ NVDR เป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีบทบาทมาก นักลงทุนที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดหุ้นอาจจะมองว่าพี่หรั่งเป็นนักลงทุนตัวร้ายที่ขายหุ้นไทยอยู่ทุกวันใช่ไหมครับ

แต่จริงๆ แล้วพี่หรั่งเมื่อก่อนแกใจดีมาก เวลาเข้ามาซื้อหุ้นไทยที ก็จะลากราคากันจนบรรดาเม่าอย่างเรารวยไม่รู้ตัว เพราะเม็ดเงินลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยที่ยังเล็ก ดังนั้นนักลงทุนมือใหม่จึงเห็นสำนักข่าวออกมาเปิดเผยกันบ่อยๆว่า พี่หรั่งซื้อหุ้น-ขายหุ้นอะไรบ้างนั่นเอง

 

กอง – มาจากคำว่า “กองทุน” หรือ “กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ” นักลงทุนกลุ่มนี้ก็คือบรรดา บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) รวมถึงกองทุนประกันสังคม และกองทุนต่างๆ ในประเทศไทยนั่นเอง

นักลงทุนกลุ่มนี้มีความสำคัญเช่นกันเพราะมีจำนวนเงินลงทุนสูงมากจากเม่าที่เข้าไปซื้อกองทุนต่างๆ นอกจากนี้นักลงทุนกลุ่มนี้มีข้อมูลสำคัญ แนวโน้มธุรกิจต่างๆ ที่ล้ำหน้ามากอยู่ในมือ จึงมักจะเป็นผู้เล่นหลักๆ ที่รับหน้าที่เปลี่ยนแนวโน้มของตลาดในช่วงนี้

 

ปอบ – มาจากคำว่า “Proprietary trading” หรือ “กลุ่มนักลงทุนบริษัทหลักทรัพย์” โบรกเกอร์ที่เราใช้บริการอยู่นั่นเอง

นอกจากปอบจะมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นที่เม่าซื้อขายหุ้นแล้ว ปอบก็มีรายได้และกำไรอีกทางมาจากการลงทุนในหุ้นเหมือนเม่าอย่างเราเช่นกัน

 

ปอด – คำนี้มีที่มาจากพอร์ตหุ้นของเรานั่นเอง เวลาพูดก็จะบอกว่า ปอดแดงมาก ปอดพัง ก็คือทั้งพอร์ตมีแต่หุ้นที่ขาดทุน ส่วนใครอ่านเพจอีไฟแนนซ์ไทยก็ขอให้ ปอดเขียวๆ เปิดดูกี่ทีก็สบายตานะครับ ^^

 

เคาะขวา – ความหมายก็คือการ “ซื้อหุ้น” ที่มีผู้ตั้งขายในฝั่ง Offer (ซึ่งอยู่ด้านขวา)นั่นเอง คำนี้จะใช้เมื่อนักลงทุนเร่งรีบ เพราะเป็นการซื้อโดยที่ไม่ได้ตั้งซื้อให้เสียเวลา เคาะขวารัวๆ กันไปเลย

ซึ่งคำว่า “เคาะ” ก็มาจากการซื้อขายหุ้นในสมัยก่อนที่ยังไม่มีระบบซื้อขายออนไลน์เข้ามา นักลงทุนจะต้องไปที่ห้องค้าหุ้น และเคาะกระดานหุ้นเพื่อซื้อขายนั่นเอง

 

โยนซ้าย – ความหมายคล้ายกับ เคาะขวา แต่เป็นการขายให้กับผู้ที่ตั้งซื้อในฝั่ง Bid นั่นเอง การโยนก็คืออาจไม่อยากถือหุ้นนี้อีกแล้ว จึงต้องโยนให้คนอื่นมารับไปแทน มักพูดกันว่า โยนซ้ายรัวๆ

 

ติดดอย – ความหมายคือ เมื่อซื้อหุ้นตัวหนึ่งไปแล้วราคากลับปรับลดลงไปมาก และหากตัดสินใจขายก็ขาดทุนหนัก เหมือนโดนทิ้งให้อยู่บนดอยไปไหนไม่ได้ ครั้นจะกระโดดลงไปก็เจ็บตัว ต้องรอให้ราคาขึ้นมารับ

การติดดอยไม่ใช่เรื่องน่าอายนะครับ ไม่ว่าใครก็ติดดอยได้ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็น เม่า กอง ปอบ หรั่ง แต่เมื่อติดดอยแล้วต้องวางแผนให้ดี เรียนรู้จากมัน และในอนาคตก็พยายามทำให้ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

ตกรถ – ความหมายจะตรงกันข้ามกับติดดอยเลย คำนี้ใช้อธิบายคนที่พลาดการซื้อหุ้น และหุ้นตัวนั้นปรับขึ้นไปแรงมากจนราคาแพง เช่น ผมมองหุ้นตัวนี้ไว้ที่ 30 บาท แต่ก็ไม่กล้าซื้อสักที พอกลับมาดูกลายเป็น 40 บาทไปแล้ว แบบนี้เรียกว่าตกรถอดขึ้นดอยครับ

การตกรถก็ไม่ใช่เรื่องผิดเหมือนกันนะ แม้จะต้องรู้สึกเสียดายอยู่บ้าง เพราะการลงทุนควรเกิดจากความมั่นใจของเราครับ ถ้าตอนนั้นเราไม่มั่นใจจริงๆแล้วไม่ได้ซื้อ แล้วราคามันขึ้นก็เป็นความผิดพลาดจากความไม่เด็ดขาดของเราเอง แต่ก็ยังมีหุ้นตัวอื่นๆ รอเราอยู่อีก อย่าเพิ่งหมดหวัง!

 

ขายหมู – คือการที่เรา “ไม่ตกรถ” และพอราคาหุ้นขึ้นไปถึงที่เราประเมินไว้แล้วจึงขายทำกำไรออกมา แต่ราคาหุ้นตัวนั้นไม่หยุดอย่างที่เราคิด และปรับตัวเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อาการนี้เรียกว่าขายหมูครับ วิธีแก้คือ “ท่องไว้ในใจเสมอว่าขายหมูดีกว่าติดดอย” ฮาๆ

 

ซื้อควาย – คำนี้ใช้ต่อกันเลย เมื่อเราขายหมูก็หมายความว่าเราเสียโอกาสในการทำกำไรจากหุ้นตัวแรกไปแล้วใช่ไหมครับ อาการซื้อควายจะเกิดต่อเมื่อเราเอาเงินจากการขายหุ้นตัวแรกไปซื้อหุ้นตัวใหม่ แล้วดันขาดทุนนั่นเอง เรียกรวมๆกันว่า “ขายหมูแถมซื้อควายอีก” วิธีแก้ก็คืออย่าโลภครับ ศึกษาหุ้นตัวใหม่ให้ดีๆ ก่อนซื้อ

 

ช้อน – การช้อนหุ้น ใช้เมื่อราคาหุ้นตัวหนึ่งปรับลดลงแรงมาก จนเราคิดว่าราคาถูกเกินไปแล้วจึงเข้าไปซื้อเพื่อให้ราคามันปรับขึ้น ถ้าช้อนได้ถูกจังหวะจริงๆ ก็รวยเลยครับ อย่างเช่น ช่วงที่หุ้นไทยปรับลดลงหนักจากโควิด-19 ใครเก็บเงินสดไว้ช้อนหุ้นตอนนั้นน่าอิจฉามากๆ

 

รับมีด – คำนี้ใช้ต่อจากการช้อนหุ้น แต่ช้อนแล้วมันกลับร่วงลงไปหนักต่ออีก เหมือนเราไปอ้าแขนรับหุ้นตัวนั้นตอนมันตกลงมา “แต่ที่ตกลงมาดันเป็นมีดซะงั้น!” กลายเป็นเจ็บตัวแทนเลย

 

นั่งทับมือ – ท่านผู้อ่านลองเปิดหน้าจอซื้อขายหุ้น แล้วนั่งทับมือตัวเองดูครับ ทำอะไรไม่ได้เลยใช่ไหมครับ ? ความหมายของมันก็คือ ขอดูอย่างเดียวดีกว่าไม่อยากเสี่ยงนั่นเอง

 

ไม้ – หมายถึงจำนวนครั้งที่ซื้อหุ้น เช่น แอดมินอยากได้หุ้นตัวนี้ 1,200 หุ้น แต่มันก็มีความเสี่ยงว่าหุ้นตัวนี้อาจจะขึ้นหรือลงก็ได้ แอดมินจึงแบ่งเข้าซื้อ 3 รอบ รอบละ 400 หุ้น แบบนี้เรียกแบ่งเก็บ 3 ไม้ ไม้ละ 400 หุ้น

 

ถัว – คำนี้มาจาก ถัวเฉลี่ย เมื่อเราซื้อหุ้นไปแล้วราคาหุ้นอาจผิดไปจากที่เราคิด สมมติว่าเรามีหุ้น 100 หุ้น ต้นทุนหุ้นละ 100 บาท แต่ราคาตลาดกลับปรับลงมาเหลือ 90 บาท การที่เราเข้าไปซื้อหุ้นที่ราคานี้เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยเราลดลงแบบนี้เรียกว่าการถัวครับ

 

เด้ง – คำนี้มี 2 บริบท บริบทแรกคือ หุ้นที่กำลังปรับลงอยู่ จู่ๆก็ปรับขึ้นมา เช่น เมื่อเช้ายังลงแรง ตอนนี้เด้งมาเขียวแล้ว อีกบริบทคือ อธิบายถึงกำไรหุ้นที่เราถืออยู่ โดย 1 เด้ง ก็คือกำไรบวก 100% ในตลาดหุ้นไทยเคยมีหุ้น 20 เด้ง +2,000% ด้วยนะ

 

คัท – มาจาก คัทลอส หรือตัดขาดทุนนั่นเอง คัท “เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่นักลงทุนมือใหม่ต้องทำนะ” สมมติว่า แอดมินซื้อหุ้นตัวนี้มา 10 บาท เพราะคิดว่าราคามันจะขึ้นไปต่อ

แต่ถ้าแอดมินรู้ตัวแล้วว่าคิดผิดราคาหุ้นปรับลง ก็ต้องยอมขายขาดทุนออกมาก่อนที่มันจะลงไปมากกว่านี้ ส่วนจะต้องขาดทุนแค่ไหนถึงจะต้องคัทลอส ก็แล้วแต่วินัยของเราเลย ส่วนตัวแอดมินขาดทุนเกิน 5% ก็เริ่มรู้สึกว่าคิดผิดแล้ว

 

เจ้ามือ – คำนี้หมายถึง Market Maker คนทำตลาดนั่นเอง … คำนี้นักลงทุนมือใหม่ต้องใช้วิจารณญาณ เพราะหลายคนยังไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง โดยเจ้ามือมีหน้าที่ในการควบคุมราคาหุ้นตัวนั้นๆ ผ่านการวาง Bid และ Offer ถ้าเจ้ามือไม่อยากให้หุ้นปรับขึ้นไปมาก ก็จะวางขายหุ้นไว้เยอะๆ เม่าอย่างเราซื้อเท่าไหร่ราคาก็จะอยู่เท่าเดิม

ใครรู้ว่าเจ้ามือมีใครบ้างกระซิบบอกแอดมินได้นะ ^^

 

ลาก – คำนี้ต่อจากหมวด เจ้ามือ ใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ราคาหุ้นจู่ๆ ก็ปรับขึ้นแบบหยุดไม่อยู่ จึงเชื่อกันว่าเจ้ามือกำลัง “ลาก” ราคาขึ้นไปอยู่ มักจะใช้วิธีไม่ตั้งขายที่ฝั่ง Offer เลย และตั้งซื้อที่ฝั่ง Bid ไว้มากๆ เพื่อไม่ให้ใครขายหุ้นจนราคาตก แต่! จะลากไปเชือด หรือลากไปรวย อันนี้ไม่รู้นะ ต้องระวัง

 

ทุบ – อยู่ในหมวดเจ้ามือเช่นกัน ตรงข้ามกับคำว่าลาก อธิบายราคาหุ้นที่จู่ๆก็ปรับลงหนักแบบไม่มีสาเหตุ จึงเชื่อกันว่าเจ้ามือกำลัง “ทุบ” ราคาหุ้นให้ลดลงอยู่นั่นเอง วิธีที่ใช้ก็ตรงข้ามกับ ลากหุ้น ส่วนจุดประสงค์เชื่อกันว่า เป็นเพราะเจ้ามืออยากได้หุ้นในราคาถูก จึงทุบเพื่อสลัดให้เม่าขายหุ้นตัวนั้นให้ตัวเอง

 

ลิ่ง – มาจากคำว่า Ceiling หรือเพดานการซื้อขายของวันนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปัจจุบันกำหนดการขอบเขตการ “ลิ่ง” ของหุ้นไว้ที่ +30% จากราคาปิดวันทำการก่อนหน้า เช่น หุ้น ABCDE ปิดการซื้อขายเมื่อวาน 100 บาท ถ้าวันนี้ขึ้นไปแตะ 130 บาท จะเรียกว่าลิ่ง

เม่ามือใหม่ถ้าหุ้นที่ถืออยู่ในปอด ลิ่ง ขึ้นมา แอดมินรับรองเลยว่าวันนั้นอารมณ์ดีไปทั้งวันแน่นอน

 

ฟลอร์ – มาจาก Floor หรือพื้นนั่นเอง ตรงข้ามกับ ลิ่ง โดยสิ้นเชิง ขอบเขตของการ ฟลอร์ ก็คือ -30% จากราคาปิดวันทำการก่อนหน้า อาการนี้จะเกิดกับหุ้นที่มีพื้นฐานเปลี่ยนโดยฉับพลันนะ ตัวอย่างสมมติ ก็คือ บริษัทนั้นถูกจับได้ว่าทุจริต งบการเงินถูกปลอมแปลง จนทำให้คนต้องตัดสินใจขายหุ้นออกมาเท่าที่จะทำได้

 

กินเหลา – คำนี้ใช้กันไม่แพร่หลายนัก มักใช้กันในกลุ่มนักลงทุนที่มีอายุมากๆเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่แอดมินอยากให้เกิดขึ้นกับผู้อ่านเพจอีไฟแนนซ์ไทยทุกคน

“เหลา” หมายถึง ภัตตาคารอาหารจีนครับ ซึ่งเมื่อก่อนมีราคาแพง หรูหรามากๆ คนที่จะไปกินเหลาได้คือ คนรวย หรือคนถูกหวยเท่านั้น

ดังนั้นคำว่า “กินเหลา” ในวงการหุ้นก็คือ การประสบความสำเร็จจากการลงทุนมากๆ ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ จนมีเงินสามารถไปกินเหลาได้นั่นเอง

 

Exness รีวิว

สมัคร Exness

โบรกเกอร์ Exness

- Advertisement -spot_img
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisement -spot_img
spot_img
spot_img
บทความล่าสุด