35.6 C
Thailand
วันศุกร์, พฤษภาคม 17, 2024
- Advertisement -spot_img

หุ้นขนาดเล็ก ทำไม ” หุ้นเล็ก ” ถึงน่าสนใจ?

หุ้นขนาดเล็ก (Small Cap Stocks) คือหุ้นที่มีขนาดของกิจการยังไม่ใหญ่มาก เป็นหุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมาก การลงทุนในหุ้นขนาดเล็กมีลักษณะ high risk, high expected return คือความเสี่ยงมักจะสูงกว่าหุ้นที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำตลาด และแน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นเล็กย่อมต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงเหล่านั้น

เหตุผลที่ทำไม ” หุ้นเล็ก ” ถึงน่าสนใจ

ศักยภาพในการเติบโตที่สูงกว่า

ผู้เขียนเชื่อเสมอว่า “ราคาหุ้น ระยะสั้นตามข่าว ระยะยาวตามกำไร” คือราคาหุ้นในระยะสั้นมักจะผันผวนไปตามกระแสข่าวต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัท ขณะที่การเติบโตของราคาหุ้นระยะยาวจะสอดคล้องกับการเติบโตของกำไรของแต่ละบริษัท จากการศึกษาพบว่าการเติบโตของหุ้น Small Cap ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของกำไรอยู่ประมาณ 14.7% ขณะที่การเติบโตของตลาดหุ้นโลกโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 11.1% ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากหากคิดจากหลักความเป็นจริง บริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีฐานกำไรที่ใหญ่มาก ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการเติบโตกำไรสูง ๆ เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดเล็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัฏจักรของการเติบโต

หากมองกันในระยะยาว ๆ บนสมมติฐานว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเท่ากับอัตราการเติบโตของกำไร การลงทุนในหุ้น Small Cap ทั่วโลกเป็นเวลา 10 ปีจะให้ผลตอบแทนสูงถึง 394% หรือประมาณ 4 เท่าตัว ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในหุ้นทั่วโลกที่จะให้ผลตอบแทนประมาณ 286% ในระยะเวลาการลงทุน 10 ปีเท่ากัน เรียกได้ว่าแตกต่างกันกว่าร้อยเปอร์เซนต์เลยครับ

ความสวยงามที่ยังไม่ถูกค้นพบ

หุ้นขนาดเล็กจำนวนมากยังคงเป็นบริษัทที่ตลาดยังไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสาร นักวิเคราะห์ยังไม่ออกบทวิเคราะห์มากนัก หรือบางครั้งอยู่ในช่วงแรกของการ IPO จึงทำให้บ่อยครั้งหุ้นขนาดเล็กมีราคาต่ำกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น ภายหลังจากที่หุ้นขนาดเล็กทำกำไรเติบโตดีซักระยะ นักลงทุนรวมถึงนักวิเคราะห์ก็จะเริ่มตระหนักถึงมูลค่าที่แท้จริงของกิจการและเข้าลงทุนในหุ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นได้มาก นอกจากนี้ในบางกรณีบริษัทขนาดเล็กก็กลายเป็นเป้าหมายในการควบรวมกิจการของบริษัทขนาดใหญ่ (Takeover Target) ได้อีกด้วย

กำไรโตง่ายจากฐานที่ต่ำ

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เหมือนเราจะหาเงิน 10 บาทกับหาเงิน 1,000 บาทอันไหนยากกว่ากัน เช่นเดียวกับกิจการที่หากำไร 10 ล้านบาทกับ 1,000 ล้านบาท กำไรที่น้อยย่อมหาง่ายกว่ากำไรที่มาก และยิ่งหุ้นนั้นมีฐานกำไรที่ต่ำยิ่งทำให้การเติบโตคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ย่อมสูงกว่า เช่น หุ้นที่มีฐานกำไรเก่า 10 ล้านบาท หากหากำไรได้อีก 10 ล้านบาท หมายถึงกำไรโต 100% ในขณะที่หุ้นที่มีฐานกำไรเก่า 100 บาท หากหากำไรได้อีก 10 ล้านบาท หมายถึงกำไรโตเพียง 10% เท่านั้น

โครงสร้างบริษัทมักไม่ซับซ้อน  

เนื่องจากเป็นกิจการที่มีขนาดไม่ใหญ่ ส่วนใหญ่หุ้นเล็กจะมีโครงสร้างธุรกิจที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน นักลงทุนสามารถทำความเข้าใจได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นใหญ่ซึ่งบางครั้งมีรายได้หลักหมื่นล้านแสนล้านมีกิจการในเครือมากมาย หุ้นเล็กในอุตสาหกรรมที่เรียบง่ายจึงเหมาะกับนักลงทุนรายย่อยที่เริ่มต้นศึกษาและประเมินมูลค่าเพราะภาพที่มองจะซับซ้อนน้อยกว่า

การเติบโตพึ่งพิงภาวะเศรษฐกิจน้อย

หุ้นขนาดเล็กส่วนมากเติบโตจากการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดจากกิจการขนาดใหญ่ ต่างจากหุ้นขนาดใหญ่ที่มักเติบโตจากการเติบโตของขนาดเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า ดังนั้น ถึงแม้ที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หุ้นเล็กก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องได้ขอเพียงให้มีกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งและชัดเจน ต่างจากหุ้นขนาดใหญ่ที่มักเคลื่อนไหวอิงกับ GDP อยู่มาก ดังนั้น ถึงแม้ว่ากิจการจะดีมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจภาพรวมมหภาคชะลอตัว กิจการก็ยากที่จะเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจได้

นักลงทุนให้ความสนใจน้อย  

นักลงทุนที่มีพอร์ตการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติ มักไม่ค่อยให้ความสนใจกับหุ้นเล็กเท่าไหร่ เนื่องจากสภาพคล่องที่จะซื้อหรือขายหุ้นอย่างเป็นอิสระนั้นยาก ถึงแม้ว่าจะลงทุนได้ก็ซื้อได้ปริมาณไม่มาก ทำให้ผลตอบแทนรวมของพอร์ตก็ไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่นัก นักลงทุนกลุ่มนี้จึงไม่ค่อยสนใจหุ้นเล็กเท่าไหร่ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ก็มักไม่สนใจเช่นกัน เนื่องจากหุ้นเล็กเหล่านี้มักติดตามข้อมูลยาก ข่าวน้อย บทวิเคราะห์น้อย ทำให้นักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามอย่างตั้งใจจริงก็อาจจะแทบไม่เคยสนใจหุ้นเหล่านี้เลย

มีโอกาสที่ราคาจะต่ำมูลค่าสูง  

ตามข้อที่แล้วที่พูดถึงการที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจน้อย นั่นจึงเป็นโอกาสที่ทำให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ต่ำกว่าหรือสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก เนื่องจากมีคนซื้อขายอยู่น้อยกลุ่ม ราคาจึงไม่ค่อยสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง มิหนำซ้ำนักลงทุนรายย่อยที่อาจจะซื้อขายอยู่บ้างก็มักจะไม่ถือลงทุนยาว เน้นเก็งกำไรระยะสั้นมากกว่า เนื่องจากส่วนใหญ่ชอบมีอคติว่าหุ้นเล็กคือหุ้นปั่นไปเสียทุกตัว ดังนั้น หากธุรกิจดีจริง นักลงทุนที่ถือลงทุนยาวก็อาจจะได้กำไรมหาศาลได้ เนื่องจากหากรอจนกำไรเติบโตและมูลค่าบริษัทเติบโตไปถึงระดับหนึ่งที่นักลงทุนรายใหญ่เริ่มเข้าลงทุนได้แล้ว ราคาก็อาจจะถูกไล่ซื้อจนเข้าใกล้มูลค่าอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งกำไรที่มากมายคุ้มการรอคอย

ราคาหุ้นอิงภาวะตลาดน้อย

หุ้นเล็กมีผลต่อตลาดน้อย เนื่องจากขนาดที่เล็กจึงทำให้ถึงแม้มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปมากก็ไม่ส่งผลต่อตลาดเท่าไหร่นัก พูดให้ง่ายคือ หุ้น 1,000 ล้านกลายเป็นหุ้น 10,000 อาจเกิดขึ้นได้ในตลาด sideways คือดัชนีไม่ได้เป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะถ้าจะหวังให้หุ้นขนาด 100,000 ล้านกลายเป็นหุ้นขนาด 1,000,000 ล้านอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงตลาดขาขึ้นเท่านั้น เพราะขนาดหุ้นที่ใหญ่จะทำให้ดัชนีเคลื่อนที่ไปด้วย ซึ่งการเคลื่อนที่ของดัชนีนั้นส่งผลมากมายต่อตลาด เพราะจะอิงกับนักลงทุนแทบทุกกลุ่ม เงินทุนจากต่างประเทศ ตลาดตราสารอนุพันธ์มากมาย

Apple Inc.
16 ปีที่แล้วมีบริษัทขนาดเล็กแห่งหนึ่งชื่อ Apple Inc. ซึ่งขณะนั้นมีผลิตภัณฑ์หลักคือเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh ซึ่งไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก โดยในปี ค.ศ. 1998 บริษัท Apple มีมูลค่ากิจการอยู่ที่ประมาณ 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีกำไรในปีนั้นที่ 309 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 16 ปีผ่านไป ณ สิ้นปี ค.ศ. 2013 มูลค่ากิจการของ Apple เพิ่มขึ้นถึง 300 เท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 5.05 แสนล้านเหรียญ และมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 120 เท่าตัวอยู่ที่ประมาณ 37 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ บริษัทอย่าง Apple ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวการเติบโตของหุ้น Small Cap ที่เติบโตเป็นหุ้น Big Cap ขนาดใหญ่ที่สุดของโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์

การลงทุนในหุ้นเล็กมีลักษณะ high risk, high expected return คือความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำตลาด และแน่นอนว่าการลงทุนในหุ้นเล็กย่อมต้องคาดหวังผลตอบแทนที่สูงเพื่อชดเชยความเสี่ยงเหล่านั้น อย่าลืมว่าข้อดีทุกข้อของหุ้นเล็กหากมองเป็นข้อเสียหรือความเสี่ยงของขาลงนั้นก็ทำได้ ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่มีขนาดเล็กต้องมีความเข้าใจในธุรกิจอย่างมาก ราคาที่ซื้อได้ต้องต่ำจากมูลค่าอย่างมีแต้มต่อ แต่หุ้นเล็กที่เติบโตอย่างมหาศาลเหล่านี้แหละที่กลายร่างเป็น “หุ้นเปลี่ยนชีวิต” ของนักลงทุนมามากมายนักต่อนักแล้ว

ที่มา: ลงทุนศาสตร์ Investerest.co, fundmanagertalk

อ่าน: รีวิวโบรกเกอร์

 

รีวิวโบรกเกอร์ Exness

รีวิวโบรกเกอร์ ZFX

รีวิวโบรกเกอร์ Eightcap

รีวิวโบรกเกอร์ XM

รีวิวโบรกเกอร์ FBS

- Advertisement -spot_img
บทความที่เกี่ยวข้อง
- Advertisement -spot_img
spot_img
spot_img
บทความล่าสุด